ลูกคือแก้วตาดวงใจพ่อแม่ ทั้งรัก ทั้งหลง ทั้งหวง ทั้งห่วง รักแบบสปอยล์ ไม่ยอมให้ใครขัดใจ รักแบบตามใจสุดโต่ง จนเหลิงและเคยตัว เพราะพ่อแม่มีเป้าหมายคือให้ลูกมีความสุขสบายมากที่สุด อยากให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการ และคาดหวังว่าลูกจะประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น ความรักแบบนี้เรียกว่า “รักแบบพ่อแม่รังแกลูก”
ทุ่มเทความรักให้ลูกมากมาย แต่ผลที่ได้รับกลับน้อยนิด
ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อชีวิตอนาคตของลูกเมื่อเติบโตขึ้น และหากเมื่อถึงวันนั้น ผู้ที่เสียใจมากที่สุดในชีวิตคือเราเอง
ก่อนจะแก้ไขสิ่งอื่นใด เราต้องยอมรับจุดอ่อนของเราเองว่าปล่อยให้ความรักรังแกลูก เพราะเราทนเห็นลูกผิดหวังไม่ได้ หากลูกไม่ได้ดั่งใจ ฉะนั้นพัฒนานิสัยและจิตใจของเราเองให้เข้มแข็งในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใจอ่อนกับลูกในเรื่องที่ไม่ใช่ และไม่ยัดเยียดสิ่งที่ไม่ใช่ให้กับลูก ลูกยังเล็กยังอ่อนหัด จึงออกฤทธิ์ออกเดชสำแดงเดชไปตามเรื่องตามราว เราต้องสำนึกว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ใช้วิจารณญาณในการดัดตนเองก่อนแล้วจึงดัดลูก โดยทำตัวให้เป็นต้นแบบที่ดีสำหรับลูก ในการแสดงออกพฤติกรรมที่ดี เช่น ไม่เจ้าอารมณ์ ไม่พูดจาหยาบคายเมื่อไม่ถูกใจ เคารพความคิดเห็นที่ต่างกัน ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า เข้าใจความต้องการของลูกและของผู้อื่น เมื่อลูกเห็นตัวอย่างที่ดี ลูกจะทำตาม และสิ่งสำคัญเราอย่าเอาความผิดพลาดหรือความบกพร่องหรือความขาดแคลนของตัวเอง มาเป็นสิ่งชดเชยปรนเปรอให้ลูกจนผิดทาง
เราไม่ควรให้ท้ายลูก หากลูกทำผิด ต้องว่ากล่าวกันไปตามผิด และสั่งสอนในสิ่งที่ถูก ไม่ควรปกป้องลูกจนลูกได้ใจในสิ่งที่ไม่สมควร เราต้องหมั่นอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีมีคุณธรรมตั้งแต่ยังเล็ก ฝึกให้มีจิตใจเมตตากรุณา รู้จักการแบ่งปันและการเสียสละ การพูดคุยกับลูกอย่างเป็นกันเองและมีความสุข สามารถกล่อมเกลาจิตใจลูกให้ซึมซับสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ได้ และคงไว้ซึ่งความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกและเรา ความอบอุ่นในจิตใจของลูกจะช่วยให้ลูกเป็นเด็กดีได้ ไม่ว้าเหว่ ไม่ก้าวร้าว ไม่เก็บกด ไม่ทำตัวเป็นเด็กมีปัญหาเมื่อเติบโตขึ้น
หากลูกงอแง ดื้อดึง เอาแต่ใจ หรือก้าวร้าวเมื่อไม่สบอารมณ์หรือไม่ได้ดั่งใจ เราควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขพฤติกรรมของลูก การตีหรือว่ากล่าวด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย สร้างบาดแผลทางจิตใจให้ลูก และเราเองอาจเสียใจในภายหลังได้ เราควรใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ปลอบประโลมจิตใจลูกให้สงบ แล้วทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน สอนตัวเราเองและสอนลูกให้รู้จักคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” สำหรับความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึกที่ไม่ตรงกัน เราเองต้องเป็นผู้ฟังที่ดีต่อลูก ให้ลูกมีโอกาสพูดคุยและแสดงความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ ถึงลูกจะยังเล็กอยู่ แต่ฉลาดพอที่จะถ่ายทอดความรู้สึกได้ เราควรเข้าใจและยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของลูกในทางที่ถูกที่ควร เล่นกับลูก ให้เวลากับลูก ช่วยลูกสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ลูกจะได้อยู่เป็นและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขเมื่อเติบโตขึ้น
เมื่อความรักรังแกลูก เพราะเรารักและห่วงใยลูกมากเกินพอดี เราก็อยากดูแลลูกทุกเรื่อง จนบางครั้งกลายเป็นการควบคุม ทำให้ลูกอาจเกิดความคับข้องใจ ความอึดอัด ขาดความเป็นอิสระทั้งในความคิดและการดำรงอยู่ อยากออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ต่างฐานะ ต่างกลุ่ม ต่างโรงเรียนแต่บ้านอยู่ใกล้กัน ก็ไม่ได้ อยากให้เราพาไปเที่ยวเหมือนที่เพื่อนไปกัน ก็ไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เพราะเราห่วงไปหมด ลูกไม่มีโอกาสคิดอะไรเองตามประสาเด็กได้เลย เราคิดและตัดสินใจแทนลูกไปแล้ว พอลูกโตขึ้นลูกจะคิดเองไม่เป็น ขาดโอกาสในการเรียนรู้ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือเลี้ยงไม่โต เพราะเราไม่ได้ฝึกทักษะด้านนี้ให้ลูก และควบคุมความคิดลูกมากเกินไป ฉะนั้นเราต้องให้โอกาสลูกและฝึกลูกให้คิดเองเป็นตั้งแต่ตอนเด็ก ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองโดยเราเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อเราจะได้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูก และเสริมสร้างทักษะให้ลูกอยู่ได้ด้วยตนเองตามความสามารถของลูก
ความรัก ความอบอุ่น และการเอาใจใส่จากพ่อแม่มีค่ายิ่งนัก ส่งผลดีต่อชีวิตของลูกอย่างมาก เราต้องแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ จริงใจ และให้ถูกทาง อย่ามองข้ามความรู้สึกของลูกแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพื่อลูกของเราจะได้เติบโตเจริญวัยเป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ณัณท์